เมื่อมองย้อนหลังในอดีต ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในการนำไปสู่การก่อตั้งสมาคม ความร่วมมือในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ใกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าการก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เมื่อปี 2510 จนกระทั่งทำให้ ประเทศคู่กรณีสามารถที่จะยุติข้อพิพาทดังกล่าว และหันหน้ามาร่วมมือกัน ผลพวงของการสร้างความ เข้าใจอันดี โดยมีไทยเป็นประเทศกลางที่มีบทบาทสำคัญ โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ประเทศใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วม ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ประกาศจัดตั้งสมาคมอาเซียน โดยมีการลงนามที่ห้องเทววงศ์ กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์

  1. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนได้มุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคตลอดมา โดยได้มี การจัดทำและผลักดันให้ทุกประเทศในภูมิภาคให้ความสำคัญและยึดมั่นในสนธิสัญญาไมตรีและความ ร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) ปี ค.ศ. 1976 ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือระหว่างกัน นอกจากนี้ อาเซียนได้ร่วมลงนามในเอกสารด้านการเมืองอื่น ๆ อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เมื่อปี ค.ศ. 1971 สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asian Nuclear Weapon-Free Zone หรือ SEANWFZ) ปี ค.ศ. 1995 รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) อันประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และประเทศผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2537 (ค.ศ. 1994) 
  2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ จากการที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกได้ เปลี่ยนไปภายหลังการเจรจาเปิดเสรีการค้ารอบอุรุกวัย และการแบ่งตลาดโลกออกเป็นกลุ่มภูมิภาค ไทยได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรองของ ประเทศในภูมิภาคและศักยภาพในการผลิต ในปี 2535 (ค.ศ. 1992) ประเทศไทย โดยอดีต นายกรัฐมนตรี ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้เสนอให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเปิดเสรี การค้าระหว่างกัน โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าภายในอาเซียนให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตในสินค้า อุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศได้ตกลงจะเร่งลดภาษีสินค้าในกรอบ AFTA ให้เร็วขึ้น โดยมีกำหนดลดภาษีสินค้าให้มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 0-5 ภายในปี 2545 (ค.ศ. 2002) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ตั้งเป้าที่จะลดภาษีสินค้าทั้งหมดลงมาอยู่ที่อัตราร้อยละ 0 ภายในปี ค.ศ. 2010 สำหรับสมาชิกเดิม และปี ค.ศ. 2015 สำหรับสมาชิกใหม่ 

    ในเวลาต่อมา อาเซียนได้ขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติมจาก AFTA เพื่อให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจมีความสมบูรณ์แบบและมีทิศทางที่ชัดเจน โดยได้ขยายความ ร่วมมือไปสู่การค้าบริการและการเชื่อมโยงทางด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area – AIA) ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2541 มีจุดประสงค์เพื่อให้อาเซียนมีความได้เปรียบและดึงดูดการลงทุนจากภายนอกและภายในภูมิภาค โดยการเปิดการตลาด (market access) และให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (national treatment) โดยมีการเร่งรัดให้ดำเนินการเรื่องนี้จากปี 2553 (ค.ศ. 2010) เป็นปี 2546 (ค.ศ. 2003) ยกเว้น เวียดนาม ลาว และกัมพูชาจะพยายามเปิดเสรีด้านการลงทุนไม่ช้ากว่าปี 2553 (ค.ศ. 2010) และขณะนี้ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเร่งเปิดเสรีแก่นักลงทุนนอกอาเซียนให้เร็วขึ้นกว่าปี 2563 (ค.ศ. 2020) นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ขยายขอบเขตความตกลง AIA ให้ครอบคลุมความร่วมมือด้านการค้าบริการ โดยมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการใน 7 สาขา (การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การเงินการคลัง วิชาชีพธุรกิจ การก่อสร้าง การคมนาคม และการท่องเที่ยว) โดยมีเป้าหมายให้การเปิดเสรีครอบคลุมทุกสาขาบริการภายในปี 2020 นอกจากนี้ มีความร่วมมือด้านการเชื่อมเส้นทางด้านคมนาคมและการขนส่งสินค้าผ่านแดน รวมทั้งโครงการความร่วมมืออาเซียนด้านการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งและ ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในเรื่องการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้มากขึ้น โดยได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การขนส่งสินค้าภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และช่วยส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 6 เมื่อธันวาคม 2541 ได้มีการลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนแล้ว 

    ในด้านความร่วมมือด้านการคลัง ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ด้านการเงินและ เศรษฐกิจในภูมิภาค อาเซียนได้เสริมสร้างการหารือระหว่างกัน และจัดตั้งกลไกตรวจสอบในภูมิภาค (regional surveillance mechanism) รวมทั้งร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้าง การเงินระหว่างประเทศ (international financial architecture) 
  3. ความร่วมมือด้านสังคม ความร่วมมือทางด้านสังคมหรือความร่วมมือ เฉพาะด้าน (Functional Cooperation) ของอาเซียน เป็นความร่วมมือด้านอื่น ๆ ที่มิใช่ด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งมี 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านยาเสพติด และด้านวัฒนธรรมและสนเทศ โดยมีคณะกรรมการต่าง ๆ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ของอาเซียนที่เกี่ยวข้องสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี การส่งเสริม พัฒนาการความร่วมมือในด้านดังกล่าวนับเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นประการหนึ่งของอาเซียนเพื่อ ส่งเสริมให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมกับประชาชนในประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้ลงนามร่วมกันใน “ปฏิญญากรุงเทพ ปี 2538” (the 1995 Bangkok Declaration) เพื่อประกาศเจตจำนงที่จะให้มีการยกระดับความร่วมมือ เฉพาะด้านให้ทัดเทียมกับความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอาเซียน อาเซียนได้ให้ ความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องการยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของการคุ้มครองและ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ ของอาเซียนนับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนชาวอาเซียน ตลอดจน ปลุกจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน (ASEAN Awareness) 

    ความร่วมมือทางด้านสังคมในกรอบอาเซียนได้พัฒนามาเป็นลำดับตามสภาพ แวดล้อม ความต้องการของประเทศสมาชิก และกระแสของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นผลให้อาเซียนมีการ จัดตั้งกลไกความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความจำเป็นที่จะต้องมีการร่วมมือ กันในระดับภูมิภาค ได้แก่ การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน โครงข่ายรองรับทางสังคม อาชญากรรมข้ามชาติ และสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งผลักดันให้อาเซียนบรรลุ เป้าหมายในการเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันตามวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) 

    ไทยเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมมือด้านสังคมเพื่อสันติสุขในภูมิภาค จึงผลักดันให้อาเซียนกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ อาทิ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดและการฟอกเงิน โรคเอดส์ การลักลอบเข้าเมือง รวมทั้ง ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ไขปัญหาหมอกควัน เป็นต้น นอกจากนั้น ไทยยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนการเข้ามามี ส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในความเป็นอาเซียน และการให้ความสำคัญต่อเรื่องการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) เพื่อบรรเทา ผลกระทบทางด้านสังคมจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปัญหาความยากจน การว่างงาน ปัญหาเด็กนอกโรงเรียนและผู้ยากไร้ 

    นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายในอันที่จะพยายามกระตุ้นให้อาเซียนเป็นสังคมเปิดและมีความเอื้ออาทร มีจิตสำนึกในความเป็นชุมชนหนึ่งเดียว ไทยได้เสริมสร้างความไพบูลย์มั่งคั่งร่วมกัน โดยการพัฒนามนุษย์โดยรวม (Total Human Development) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสังคมในระยะยาว การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในภูมิภาค โดยใช้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เป็นกลไกในการลดช่องว่าง ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน 

    เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา ไทยได้ผลักดันให้อาเซียนมีมติรับรอง ให้ปี พ.ศ. 2545-2546 เป็นปีแห่งการปลุกจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติดในอาเซียน และสนับสนุนให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รับรองปฏิญญาที่ประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 7 ว่าด้วยโรคเอดส์ เนื่องจากปัญหาทั้งสองได้ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรแก่ประเทศไทยในการแก้ไขเป็นจำนวนมาก และจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการควบคุมปัญหาดังกล่าวให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิผล 

    ความร่วมมือทางสังคมได้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาในประเทศไทยเป็น จำนวนมาก และส่งเสริมให้มีบรรยากาศแห่งความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา ซึ่งสะท้อนไปสู่การมี เสถียรภาพ สันติสุข และความก้าวหน้าในภูมิภาค